จีนและไทยร่วมมือกันสร้างสรรค์ “มิตรภาพสีทอง” ให้ส่องประกายยิ่งขึ้น
ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทยและยังเป็น 50 ปีทองแห่งมิตรภาพ เมื่อไม่นานนี้ “One River, One Family” งานวัฒนธรรมตรุษจีนอินไทยแลนด์ประจำปี 2568 และงานประกาศผล 10 อันดับข่าวเด่นด้านความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขงประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานสารนิเทศ คณะกรรมการพรรคฯ มณฑลยูนนานและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประทศไทย จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในวันเดียวกันนั้น ยังมีการจัดงานสัมมนาสื่อมวลชนและคลังสมอง:มิตรภาพสีทองไทย-จีน สร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน ซึ่งแขกสำคัญทั้งชาวจีนและชาวไทยจำนวนมากได้ร่วมหารือในเชิงลึกเกี่ยวกับการสร้างประชาคมจีน-ไทยที่มีอนาคตร่วมกัน
มิตรภาพไทย-จีนล้ำค่าดุจดั่งทองคำ
ไทยและจีนมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้งและร่วมมือกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ ในอนาคตทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันผลักดันความสัมพันธ์ทวิภาคีให้สูงขึ้นและเติมพลังใหม่ให้กับความร่วมมือในภูมิภาค
นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสํานักนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า ประเทศไทยและจีนมีความใกล้ชิดกันเสมือนครอบครัวมาตั้งแต่สมัยโบราณ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมต่อถึงกันนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ มากมาย หวังว่าการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจะทำให้ประชาชนของทั้งสองประเทศมาใกล้ชิดกันมากขึ้นและเสริมสร้างความร่วมมือไทย-จีน เพื่อผลักดันความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง และสร้างความมั่นใจและแรงผลักดันใหม่ๆ ให้กับความร่วมมือในภูมิภาค
นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย กล่าวถึงประเพณีมิตรภาพ “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ที่ดำเนินมายาวนานระหว่างไทยและจีน และกล่าวว่ามิตรภาพอันลึกซึ้งนี้ได้หยั่งรากลึกในใจของประชาชน เขากล่าวว่าภายใต้การส่งเสริมอย่างแข็งขันของผู้นำของทั้งสองประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และการแลกเปลี่ยนระหว่างทั้งสองประเทศก็ใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านเชื่อมั่นว่าบนพื้นฐานของความไว้วางใจและความร่วมมือซึ่งกันและกัน ไทยและจีนจะขยายความร่วมมือในด้านต่างๆ ต่อไป และร่วมมือกับประเทศล้านช้าง-แม่โขงเพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีของไทย เน้นย้ำว่า “มิตรภาพสีทอง” เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างไทยและจีนที่ล้ำค่าดุจดั่งทองคำ และคุณค่าของมิตรภาพระหว่างสองฝ่ายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุคสมัยใหม่ ในปัจจุบันความสัมพันธ์ไทย-จีนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และทั่วโลกได้เห็นพัฒนาการมิตรภาพไทย-จีน ประชาชนชาวไทยและจีนควรหวงแหนมิตรภาพที่ได้มาอย่างยากลำบากนี้ไว้ ร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรไทย-จีนให้ก้าวหน้าต่อไป เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมิตรภาพไทย-จีนอย่างลึกซึ้ง และทำให้มิตรภาพไทย-จีนเกิดประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งสองประเทศ
ไทยและจีนมีค่านิยมร่วมกัน
ไทยและจีนมีค่านิยมร่วมกันและมีศักยภาพความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และอื่นๆ ในอนาคตทั้งสองประเทศจะยังคงร่วมมือกันต่อไปเพื่อสร้างประชาคมที่ใกล้ชิดและมีอนาคตร่วมกัน
พลเอกสุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีนกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและไทยและยังเป็น 50 ปีทองแห่งมิตรภาพ ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา มิตรภาพอันลึกซึ้งที่ว่า “จีน-ไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากจีน เชื่อมโยงไทยกับจีนอย่างใกล้ชิด และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้า ปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ เช่น การค้า การท่องเที่ยว และการศึกษา โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม ประเทศไทยและจีนมีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีวัฒนธรรมที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ประเทศไทยและจีนมีค่านิยมร่วมกัน ค่านิยมแบบดั้งเดิม เช่น การเคารพซึ่งกันและกัน ความเคารพครูและการศึกษา เชื่อมโยงผู้คนของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างทั้งสองประเทศ โดยมีแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงเป็นสายสัมพันธ์ ประเทศไทยและจีนจะก้าวไปสู่อนาคตที่แจ่มใสอย่างแน่นอน
ดร.ประทีป ช่วยเกิด นักวิจัยจากคลังสมองเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่า ไทยและจีนมีศักยภาพความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่ในหลายด้าน สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศไทยและจีน และเป็นรากฐานที่มั่นคงในการสร้างประชาคมไทย-จีนที่มีอนาคตร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรถไฟ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย จีน และลาว จะไม่เพียงแต่ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยให้วัฒนธรรมต่างๆ หลอมรวมกันผ่านการแลกเปลี่ยนอีกด้วย ในด้านความร่วมมือด้านสื่อ ไทยและจีนควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านสื่อในยุคใหม่ เช่น การรายงานข่าวร่วมกัน การดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความร่วมมือร่วมกัน เพื่อส่งเสริมการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น สร้างประชาคมที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและสร้างสะพานเชื่อมจิตใจของประชาชนทุกประเทศ
คุณศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร ประธานสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เปิดเผยว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 11 ล้านคน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับจีน อาหาร สถานที่ท่องเที่ยว และบริการคุณภาพสูงของไทยเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวจีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อต่างๆ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยควรร่วมมือกันเพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลต่างๆ มีความถูกต้องและเชื่อถือได้
แหล่งที่มา:หนังสือพิมพ์ยูนนานเดลี่
โกว เสี่ยวหรง/แปล
จารุวรรณ อุดมทรัพย์/พิสูจน์อักษร