หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ
ล่าสุด รายงานการคาดการณ์การขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกประจำปี 2024 ของบริษัทโบอิ้งแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศจะเติบโตในอัตรา 4% ต่อปีภายในปี 2043 ในอีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตขึ้นในอัตรา 7.2% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าปริมาณเฉลี่ยทั่วโลก อีกทั้ง ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการบินพลเรือนและวางแผนปรับปรุงสนามบินหลักเพื่อตอบสนองความต้องการการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้น
หลายประเทศได้นำเสนอแผนขยายสนามบินและก่อสร้างใหม่
อุตสาหกรรมการบินพลเรือนของกัมพูชาในปี 2024 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2024 ปริมาณผู้โดยสารที่สนามบินนานาชาติหลักทั้ง 3 แห่งของกัมพูชาอยู่ที่ 4.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว หลายประเทศ เช่น ไทย จีน เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ ได้เปิดเส้นทางบินตรงไปยังกัมพูชาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ท่าอากาศยานนานาชาติเตโช(Techo Takhmau International Airport)ซึ่งเป็นโครงการสนามบินแห่งใหม่ในเมืองหลวงพนมเปญ กำลังจะเสร็จสมบูรณ์และเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ สนามบินแห่งนี้เป็นสนามบินระดับสูงที่สามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ เช่น แอร์บัส A380 ได้ เมื่อสร้างเสร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งทางอากาศของกัมพูชาได้อย่างมาก
สำนักงานการบินพลเรือนของประเทศไทยได้เผยแผนพัฒนาการบิน โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าภายในปี 2037 ศักยภาพการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปีและผู้โดยสาร 270 ล้านคนต่อปี ส่วนท่าอากาศยานนานาชาติชางงีของสิงคโปร์มีกำหนดเริ่มก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 ในปี 2025 และจะเปิดใช้งานในปี 2030 คาดว่าจะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 50 ล้านคน สำหรับสำนักงานการบินพลเรือนเวียดนามคาดการณ์ว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ปริมาณผู้โดยสารทางอากาศของเวียดนามจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.5% ถึง 8.5% โครงการขยายสนามบินนานาชาติโหน่ยบ่ายของฮานอยกำลังดำเนินไปด้วยดี คาดว่าเมื่อเปิดใช้งานเต็มรูปแบบภายในปี 2030 จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ซึ่งมากกว่าปัจจุบันถึง 2.5 เท่า
กระชับความร่วมมือกับจีนด้านการบินพลเรือน
ด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และวัฒนธรรมระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนจึงได้เสริมสร้างการเชื่อมโยงทางอากาศและเปิดเที่ยวบินตรงมากขึ้น
บริษัทจีนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในโครงสร้างพื้นฐานการบินพลเรือนในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการพัฒนาระดับภูมิภาค สนามบินนานาชาติอังกอร์ในเมืองเสียมราฐซึ่งสร้างโดยบริษัทจีน ถือเป็นสนามบินนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในกัมพูชา ขณะนี้สนามบินเปิดดำเนินการมาได้กว่าหนึ่งปีแล้ว และมีปริมาณผู้โดยสารมากกว่า 1.3 ล้านคน คาดว่าในปี 2025 ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคน
นายพาน ยี่ซิน รองประธานสมาคมขนส่งทางอากาศแห่งประเทศจีนกล่าวว่า จีนและอาเซียนได้กลายเป็นหนึ่งในภูมิภาคการขนส่งทางอากาศที่เปิดกว้างมากที่สุดในโลก ในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมการพัฒนาการบิน การท่องเที่ยว และวัฒนธรรมร่วมกันต่อไป
แหล่งที่มา:หนังสือพิมพ์The People's Daily
โกว เสี่ยวหรง/แปล
จารุวรรณ อุดมทรัพย์/พิสูจน์อักษร