ส่งเสริมการสร้างสนามบิน--เส้นทางสี จิ้นผิง

แหล่งที่มา:CMG   |    2025-01-22 15:31:57

นายเหยียน เจิ้ง ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันสังคมศาสตร์แห่งมณฑลฝูเจี้ยนเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า ในเวลานั้น นายสี จิ้นผิงก็ได้เสนอว่า เมืองฝูโจวจำเป็นต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก

หลังใช้ความพยายามเป็นเวลานาน เมืองฝูโจวจึงได้สร้างท่าเรือน้ำลึกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 100,000 ตันในตำบลเจียงยิน เมืองฝูชิง และสร้างท่าเรือถ่านหินขนาด 300,000 ตันและท่าเรือสินแร่เหล็กในอ่าวหลัวหยวน

ขณะนั้น ไม่มีสนามบินพลเรือนในฝูโจว มีเพียงสนามบินอี้ซี่ว์ที่ใช้ร่วมกันระหว่างทหารและพลเรือนซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียง 1.4 ล้านคนต่อปี ไม่มีเที่ยวบินระหว่างประเทศ ไม่มีอุปกรณ์ช่วยการลงจอดที่สามารถมองเห็นผ่านเมฆหรือหมอกได้ และเครื่องบินขนาดใหญ่ไม่สามารถบินขึ้นหรือลงจอดได้

การไหลเวียนของผู้คนและการขนส่งสินค้าไม่คล่องตัว ปัญหาการคมนาคมขนส่งทางอากาศส่งผลกระทบไม่น้อยต่อการเปิดสู่ภายนอกสำหรับเมืองฝูโจว ในช่วงต้นปีค.ศ.1991 ฝูเจี้ยนได้ยื่นคำขอต่อส่วนกลางที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสนามบินนานาชาติ แต่ได้รับแจ้งว่าปัจจุบันรัฐไม่มีแผนที่จะลงทุนสร้างสนามบินในฝูโจว

วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1991 นายสี จิ้นผิงเป็นประธานการประชุมกรรมการประจำคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมืองฝูโจวครั้งที่ 30 ที่ประชุมได้ตัดสินใจใช้วิธีการลงทุนโดยท้องถิ่นเพื่อวางแผนและออกแบบสนามบินแห่งใหม่ตามขนาดของสนามบินนานาชาติสมัยใหม่ขนาดใหญ่โดยจะมีการแบ่งเฟสการก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด  ในวันที่ 3 มิถุนายนปีถัดมา หลังโครงการนี้ได้รับอนุมัติ งานเตรียมการก็เริ่มขึ้นทันที

นายสี จิ้นผิง นำบุคลากรที่เกี่ยวข้องเดินทางไปสำรวจฝูชิง หมิ่นโหว ฉางเล่อ และสถานที่อื่นๆ และในที่สุดได้เลือกสถานที่ตั้งของสนามบินแห่งใหม่ในตำบลจางกั่ง อำเภอฉางเล่อ ซึ่งมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาและการขยายการก่อสร้างในอนาคต

เมื่อคลี่คลายปัญหาการเลือกสถานที่แล้ว ความยากลำบากที่ตามมาทันทีคือ การสร้างสนามบินต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ควรระดมทุนอย่างไร?

วันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.1992 ผู้นำของ“ทีมผู้นำทั้งห้าองค์กร”(“ทีมผู้นำทั้งห้าองค์กร” หมายถึงทีมผู้นำของคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาล สภาผู้แทนประชาชน สภาปรึกษาการเมืองและกองทัพ)ประจำเมืองฝูโจวเป็นแกนนำในการขอรับบริจาคเงินเพื่อสร้างสนามบินแห่งใหม่โดยได้รับบริจาครวม 13,500 หยวน ในช่วงเวลาหนึ่ง คำขวัญที่ว่า"มีเงินออกเงิน มีแรงออกแรง" และ"ทุกคนมีส่วนร่วมในการก่อสร้างสนามบิน"นั้นได้แพร่กระจายไปทั่วฝูโจว ผู้คนจากทุกแวดวงและทุกสาขาอาชีพ ตลอดจนพี่น้องร่วมบ้านเกิดในโพ้นทะเลต่างก็ตอบรับอย่างกระตือรือร้นและพากันบริจาคเงินอย่างคึกคัก ในเวลาเพียงห้าเดือนครึ่ง ยอดบริจาคทะลุ 72 ล้านหยวน

ด้วยวิธีนี้ เมืองฝูโจวจึงได้ระดมเงินทุนสำหรับการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ผ่านหลายช่องทาง โดยได้รับเงินอุดหนุนจำนวนหนึ่งจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งชาติ เงินกู้ยืมจำนวนหนึ่งจากธนาคารเพื่อการพัฒนาและธนาคารระหว่างประเทศ เงินจัดสรรจากการคลังจำนวนหนึ่ง เงินที่จัดหาในท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง และเงินบริจาคจากสังคมจำนวนหนึ่ง

ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตามโครงการในวันขึ้นปีใหม่ ค.ศ. 1993 เมืองฝูโจวได้ตั้งทีมผู้นำการก่อสร้างสนามบินนานาชาติฉางเล่อเมืองฝูโจว โดยมีนายสี จิ้นผิง เป็นผู้นำ

วันที่ 26 มีนาคม ในการประชุมระดมสรรพกำลังเพื่อเร่งก่อสร้างสนามบินนานาชาติฉางเล่อเมืองฝูโจว นายสี จิ้นผิง ได้อรรถาธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับความหมายอันสำคัญยิ่งและผลในระยะยาวของการก่อสร้างสนามบินนานาชาติฉางเล่อว่า "สนามบินนานาชาติฉางเล่อเมืองฝูโจว เป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญมุ่งเน้นไปที่ศตวรรษที่ 21 มีความหมายสำคัญและยาวไกลต่อทั้งการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนของฝูโจว ส่งเสริมการก่อตัวของมหานครที่ทันสมัย ​​ตลอดจนการปฏิรูป การเปิดกว้างและการสร้างสรรค์เศรษฐกิจของทั้งมณฑล รวมถึงการเร่ง‘เชื่อมโยงโดยตรงสามประการ' (‘เชื่อมโยงโดยตรงสามประการ'หมายถึง‘เชื่อมโยงโดยตรงทางการไปรษณีย์ การเดินเรือ และการค้า'ระหว่างสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวัน) และส่งเสริมการรวมมาตุภูมิเป็นเอกภาพอย่างสันติ”

เขาให้กำลังใจผู้คนทั้งหลายให้ดำเนินการระดมทุนให้ดีผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งจากระดับบน ภายในประเทศ และภายนอกแผ่นดินใหญ่ด้วยความกล้าหาญ ขยายช่องทางการจัดหาเงินทุนใหม่ๆ และเร่งก่อสร้างสนามบินโดยพึ่งพาการปฏิรูปเชิงลึกและขยายการเปิดกว้าง

ในระหว่างการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ นายสี จิ้นผิงได้ตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้างหลายครั้งเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากลำบาก เขาสั่งการให้นำเข้าผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง การบริหารจัดการสนามบิน การบริหารจัดการการเงิน และด้านอื่น ๆ ผ่านวิธีการคัดเลือกภายในเมืองฝูโจวและการรับสมัครจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และวิธีการอื่นๆ เพื่อมุ่งมั่นที่จะสร้างสนามบินใหม่ให้ดีอย่างรวดเร็ว มีคุณภาพและประสิทธิผลสูง

ภายใต้การส่งเสริมของเขา ประชาชนชาวฝูโจวต่างตระหนักถึงความจำเป็นในการก่อสร้างสนามบินว่าเป็นภาระหน้าที่ของตนเองด้วย เฉพาะวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1993 เพียงวันเดียวก็มีประชาชนมากกว่า 3,500 คนไปปลูกต้นสนทะเลมากกว่า 20,000 ต้น และสนามหญ้ามากกว่า 10,000 ตารางเมตรตามพื้นที่รอบๆสนามบินฉางเล่อ ในปีต่อๆ มา เจ้าหน้าที่และมวลชนชาวฉางเล่อพากันมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในงานก่อสร้าง เคลียร์พื้นผิวจราจร ปลูกต้นไม้ ฯลฯ โดยมีการทำงานในลักษณะอาสาสมัครเป็นเวลารวม 50,000 วันทำการ

หลังผ่านการทำงานอย่างหนักเป็นเวลามากว่าสี่ปี เวลา 10.00 น. ของวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1997 เครื่องบินโบอิ้ง 757 ลำหนึ่งของสายการบินเซี่ยเหมินแอร์ไลน์ทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า เป็นอันว่า สนามบินนานาชาติฉางเล่อเมืองฝูโจวได้เปิดการบินอย่างเป็นทางการ

วันที่ 10 กันยายน ค.ศ.2020 โครงการขยายสนามบินนานาชาติฉางเล่อเมืองฝูโจวเฟสที่ 2 ได้เริ่มการก่อสร้าง ซึ่งหมายความว่าสนามบินแห่งนี้จะเข้าสู่ยุค "รันเวย์คู่"ในไม่ช้า

ส่งเสริมการสร้างสนามบิน--เส้นทางสี จิ้นผิง