ตรุษจีน
เหลาเส่อ (ชาตะ 3 กุมภาพันธ์ 2442 มรณะ 24 สิงหาคม 2509) เดิมชื่อ ซู ชิ่งชุน เป็นนักประพันธ์ นักเขียนนวนิยายสมัยใหม่ชาวจีน เป็นนักเขียนคนแรกในยุคจีนใหม่ที่ได้รับฉายานามว่า “ศิลปินของประชาชน” “ตรุษจีน” เป็นร้อยแก้วที่เขียนโดยเหลาเส่อ เรามาติดตามลีลาปลายปากกาของผู้เขียน ร่วมเดินเข้าสู่เทศกาลตรุษจีนด้วยกัน ไปสัมผัสกับลมหายใจแห่งชีวิตอันเข้มข้นที่กอรปด้วยกลิ่นอายของปีใหม่
ตรุษจีน ในความรู้สึกเหมือนมันห่างไกลไปหน่อย จึงไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก ชีวิตในเมืองที่พลุกพล่านท่ามกลางฝูงชนที่เร่งรีบ กลิ่นอายของตรุษจีนนับวันจืดจางลงเรื่อย ๆ บางครั้งถึงวันตรุษจีนแล้ว จึงค่อยนึกขึ้นมาได้ สิ่งที่ทำให้ตัวเองคิดถึงมากที่สุด น่าจะเป็นวันตรุษจีนในวัยเด็ก แม้ว่าจะเป็นความทรงจำที่นานมาก แต่ทุกอย่างยังคงชัดเจนแจ่มใส
บ้านเกิดของผมอยู่ในชนบท เมื่อถึงเดือน 12 บรรยากาศตรุษจีนจะเข้มข้นขึ้นทันที...
ในสมัยนั้นอาหารการกินแย่มาก ปกติจะไม่มีโอกาสได้กินขนมแป้งข้าวโพด ข้าวฟ่าง ไม่มีแม้แต่เส้นบะหมี่หรือขนมแป้งด้วยซ้ำ ดังนั้นสำหรับเด็ก ๆ อย่างพวกเราแล้ว ตรุษจีนจึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้สนองความอยากของเรา ก่อนวันส่งท้ายปีเก่าไม่กี่วัน แม่จะยุ่งอยู่กับการนึ่งเค้กข้าว นึ่งหม่านโถว และจะตุ๋นเนื้อหม้อใหญ่ก่อนตรุษจีนหนึ่งวัน ซึ่งผมยืนอยู่ข้างเตาหม้อตุ๋น สายตาจับจ้องอยู่ที่หม้อตุ๋น ได้กลิ่นหอมกรุ่นลอยฟุ้งออกมา น้ำลายถึงกับไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว แม่ที่ยืนอยู่ข้าง ๆ สังเกตเห็น จึงเปิดฝาหม้อขึ้น ใช้ตะเกียบจิ้มเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงในชาม ผมเอื้อมมือไปหยิบมันขึ้นมาแล้วกัดกินทันที โดยไม่สนใจว่ามันจะร้อนลวกปาก...
กลอนคู่บนกระดาษแดงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในวันตรุษจีน กลอนสมัยนั้นแตกต่างไปจากสมัยนี้ ทุกคนต้องซื้อกระดาษแดงแล้วนำไปขอให้ผู้ใหญ่เขียนด้วยมือ ลายมือพู่กันจีนของพ่อผมดีมาก จึงมีผู้คนมาที่บ้านผมเข้าแถวกันยาวเหยียดเพื่อขอให้พ่อช่วยเขียนกลอนตรุษจีน ตรุษจีนสองวันนี้เป็นช่วงเวลาที่พ่อยุ่งที่สุด... เมื่อกลอนกระดาษแดงถูกติดบนผนังและหน้าประตูบ้าน มันเรียกบรรยากาศความรื่นเริงของตรุษจีนให้คึกคักขึ้นมาทันที
เมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ผมชอบใส่เสื้อผ้าใหม่ คืนส่งท้ายก่อนวันตรุษจีน ผมจะหยิบเสื้อผ้าใหม่ออกมา จับพลิกไปพลิกมา เพ่งพิศพร้อมกับจินตนาการว่าพรุ่งนี้ผมจะได้ใส่มันแล้ว สุขใดจะปาน เพราะตลอดทั้งปีจะมีโอกาสได้สวมใส่เสื้อผ้าใหม่เพียงไม่กี่ครั้ง โดยปกติจะต้องรอถึงวันตรุษจีน ก่อนเข้านอนผมจะล้างเท้าน้อย ๆ ของตัวเองจนสะอาดหมดจด เอารองเท้าใหม่ ถุงเท้าใหม่วางข้างหมอน เฝ้ามองดูพวกมัน จนเผลอหลับไป บางครั้งก็ฝัน ถึงแม้จะไม่รู้ว่าสีหน้าของตัวเองในเวลานั้นเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าใบหน้าน้อย ๆ นั้นน่าจะเป็นรอยยิ้มอันแสนหวาน
วันส่งท้ายปีเก่าเรียกอีกอย่างว่าวันที่สามสิบ ทุกบ้านจะประดับตกแต่งโคมไฟหลากสีสัน ทุกคนรื่นเริงยินดีมีความสุข ในสมัยนั้น การจะได้เห็นรอยยิ้มบนใบหน้าของทุกคนก็คงจะเป็นวันตรุษจีนนี้แหละ เช้าของวันส่งท้ายปีเก่า ผมถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับใหลด้วยเสียงประทัด พ่อจะพูดเข้าหูพวกเราว่า ตื่นได้แล้ว ตรุษจีนถึงแล้ว รีบมาจุดประทัดกันเร็ว พวกเราจะลุกพรวดขึ้นอย่างรวดเร็ว สวมใส่เสื้อผ้าใหม่และรองเท้าใหม่ วิ่งออกไปข้างนอกจุดประทัด ต่อจากนั้นสิ่งที่รอเราอยู่บนโต๊ะอาหารคือเกี๊ยวร้อน ๆ แสนอร่อย
เสียงหัวเราะครื้นเครงในตอนกลางวันผ่านไปอย่างรวดเร็ว ราตรีกาลเริ่มปกคลุม แสงไฟจากบ้านเรือนนับพันเริงระบำในค่ำคืนฤดูหนาว ตัดกับหิมะสีขาวโพลน สะท้อนภาพค่ำคืนอันสวยงามที่สุดในชนบท
หลังอาหารค่ำคืนส่งท้ายปีเก่า จะเป็นช่วงเวลาของ “เฝ้าปีใหม่” กล่าวกันว่าถ้าสามารถไม่นอนเลยทั้งคืนจะมีสมองที่ปลอดโปร่งแจ่มใสตลอดทั้งปี พวกเราเพื่อนพ้องตัวน้อย ๆ พากันถือโคมไฟ ออกไปวิ่งเล่น เก็บเศษประทัดที่ตกบนพื้นลานบ้านของคนอื่น ประทัดบางอันที่เอากลับมายังจุดได้ แน่นอนแหละ เมื่อเล่นจนเหนื่อยแล้ว จะไปที่บ้านไหนก็ได้ ซึ่งเราจะได้รับการต้อนรับด้วยอาหารและเครื่องดื่มที่เอร็ดอร่อย...
กาลเวลาผ่านมาหลายปี เหตุการณ์บางอย่างในอดีตถูกลืมเลือนไปบ้าง แต่ภาพการฉลองตรุษจีนในวัยเด็กยังคงตราตรึงอยู่ในใจตลอดไป