สตอรี่ร้านน้ำชาเก่า

แหล่งที่มา:นิตยสาร แม่น้ำโขง   |    2024-04-25 14:50:51

ฉากที่หลี่เฉียงยากจะลืมคือ ในเช้าวันหนึ่ง มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินเข้าไปในร้านน้ำชาของเขา ยื่นเงิน 50 หยวน ขอน้ำชาหนึ่งแก้ว

ในร้านน้ำชาเก่าแก่แห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานเมืองเฉิงตู น้ำชาที่แพงที่สุดมีราคาไม่เกิน 10 หยวน แต่หญิงสาวบอกว่าปู่ของเธอเป็นลูกค้าประจำที่นี่ “ชาดี” แก้วนี้เป็นการสั่งให้ท่าน

หลี่เฉียงจำได้ว่าหญิงสาวนั่งอยู่ในร้านน้ำชาทั้งวัน เพื่อระลึกถึงปู่ที่เสียชีวิตของเธอ แต่หลี่เฉียงจำไม่ได้จริง ๆ ว่าปู่ของเธอคือใคร ร้านน้ำชามีคนชรามากมาย พวกเขาจ่ายเงิน 1 หยวนเพื่อน้ำชาสักแก้ว ซึ่งเป็นความเคยชินที่จะมานั่งแช่เป็นกิจวัตรประจำวัน เช่น พักเท้า เข้าสังคม พักแรม และใช้ชีวิต จึงเป็นเรื่องปกติที่พวกเขาจะปรากฏตัวหรือหายไป

ในตำบลเผิง เขตซวงหลิว นครเฉิงตู คนท้องถิ่นกล่าวว่า ร้านน้ำชาเก่า “ศาลากวนอิม” มีอายุมากกว่า 100 ปีแล้ว ทุกวันนี้ ผู้เฒ่าที่มาดื่มน้ำชาส่วนใหญ่เหมือนหลี่เฉียงคือ ต่างใช้เวลา “ครึ่งค่อนชีวิต” จมอยู่ที่นี่

ลูกค้าน้ำชาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทหนึ่งคือผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ร้านน้ำชาเก่า “ศาลากวนอิม” เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการพบปะทางสังคมและความบันเทิงประจำวันของพวกเขา นักดื่มชาหน้าใหม่ในยุคโซเชียลจากท้องที่ต่าง ๆ พากันเบียดเสียดเข้ามา ยกกล้องขึ้น หันมุมกล้องไปที่นักดื่มชารุ่นเก่า ตามเก็บภาพ “รสชาติแห่งอดีต” ที่แทบจะหาได้ยากในเมือง

หลี่เฉียงเกิดที่ตำบลเผิง เติบโตมากับแม่ที่ทำงานในร้านน้ำชา ในปี พ.ศ. 2538 หลี่เฉียงในวัย 30 ปี รับช่วงดูแลร้านน้ำชาเก่า “ศาลากวนอิม” เขาไม่ได้ทำธุรกิจไพ่นกกระจอก แต่ต้องการรักษาบรรยากาศร้านน้ำชาเก่าไว้เหมือนเดิม ถือเป็นร้านน้ำชาเชิงวัฒนธรรม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ร้านน้ำชาเริ่มมีชื่อเสียงในแวดวงการถ่ายภาพ มีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ธุรกิจเริ่มเข้าร่องเข้ารอย เมื่อเดินเข้าร้านน้ำชา ราวกับเข้าไปใน “โรงละครที่มีส่วนร่วม” ผู้สูงอายุที่นั่งแช่อยู่ในร้านน้ำชา ต่างกำลังแสดง “โลกแห่งจิตวิญญาณของตัวตน” และวิถีชีวิตของคนรุ่นหนึ่งที่กำลังจะผ่านไป

สำหรับหลี่เฉียงซึ่งเติบโตมาจากร้านน้ำชามองว่า “ความเสมอภาค ความเอื้ออาทร และความเคารพ” คือคุณลักษณะพิเศษที่ร้านน้ำชาควรมี ที่หน้าประตูร้านน้ำชาแห่งนี้มีป้ายแขวนอยู่เขียนข้อความว่า “ดื่มน้ำชา 10 หยวน ถ่ายรูป 10 หยวน” แต่สำหรับผู้สูงอายุในท้องถิ่น เขาเก็บเงินเพียง 1 หยวนเท่านั้น

เมื่อหลายปีก่อน รัฐบาลท้องถิ่นได้เปิดร้านน้ำชาด้วยใจรักแห่งใหม่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากร้านน้ำชาเก่า  “ศาลากวนอิม” ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่เสียค่าใช้จ่าย ในขณะที่คนหนุ่มสาวดื่มชาจ่ายโดยสมัครใจ มีคนพูดกับหลี่เฉียงว่า “เสร็จแล้วนาย ทางนั้นเขาให้ดื่มชาฟรี ผู้สูงอายุต่างไปที่ร้านน้ำชาด้วยใจรักกันหมด เมื่อไม่มี 'นางแบบ' นักท่องเที่ยวก็ไม่มาถ่ายรูปกันแล้ว”

เมื่อหลี่เฉียงได้ฟังดังนี้ เขายังค่อนข้างมั่นใจ วันเวลาหลังจากนั้นต่อมา ผู้เฒ่าก็ไม่ได้จากไปจริง ๆ

เขาอธิบายว่า อันที่จริงแล้ว “น้ำชา 1 หยวน” ไม่เพียงพอสำหรับต้นทุนการดำเนินกิจการของร้านน้ำชา แต่โดยตัวมันเองเป็นสวัสดิการสาธารณะประโยชน์ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ เขาจะไม่ยกเลิกระเบียบการเก็บเงินของทางร้าน เพราะในความเห็นของเขาแล้ว “คนทุกคนเท่าเทียมกัน การใช้เงินของผู้สูงอายุ หมายถึงศักดิ์ศรี” “น้ำชา 1 หยวน” ยังเป็นสัญญาใจระหว่างเถ้าแก่กับลูกค้าประจำ ประกอบกับการถ่ายภาพ ถือเป็นการประนีประนอมของลูกค้าเพื่อรักษาร้านน้ำชาไว้

เหล่าชี พนักงานเสิร์ฟซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ประจำร้านน้ำชาเก่า “ศาลากวนอิม”

เหล่าชีซึ่งมีชื่อจริงว่าเฉิน กั๋วชิ่ง ปีนี้มีอายุ 53 ปี เขาเป็นลูกคนที่เจ็ดในครอบครัว พ่อแม่ของเขาเสียชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัย ตอนอายุ 7 ขวบ เขาล้มป่วยและได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ทำให้สติปัญญาของเขาติดอยู่ที่วัยเด็กอย่างถาวร เมื่อสิบปีที่แล้ว เหล่าชีติดตามน้องสาวของเขาที่แต่งงานจากซวงหลิว เมืองหย่งอันมาที่เมืองเผิง ในเวลานั้น ร้านน้ำชาขาดผู้ช่วย มีลูกค้าแนะนำกับหลี่เฉียงว่าให้เหล่าชีมาช่วย เวลาหลี่เฉียงเรียก “เหล่าชี มากวาดพื้นหน่อยสิ” เหล่าชีจะเข้าไปช่วยโดยไม่ต่อล้อต่อเถียง หลี่เฉียงจึงพูดว่า “เอาล่ะ เมื่อกวาดพื้นแล้วก็ถือว่าเป็นสตาฟคนหนึ่งของที่ร้านแล้ว”

หลังจากนั้น หลี่เฉียงให้ที่พักและอาหารกับเหล่าชี โดยให้เขาอยู่ช่วยงานในร้านน้ำชา เหล่าชีอาศัยอยู่ในห้องข้างร้านน้ำชา กลายเป็นพนักงานเสิร์ฟที่เก่าแก่ที่สุด ทำงานล้างถ้วย เสิร์ฟชา จุดไฟ เติมน้ำ เขาคุ้นเคยกับงานทั้งหมดที่นี่ เพียงแค่หลี่เฉียงส่งเสียงเรียก “เหล่าชี” เขาจะขานรับเสียงดัง แล้วรีบไปช่วยอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าบัดนี้ เหล่าชี “เป็นผู้ใหญ่แล้ว” สิ่งที่รับไม่ได้เลยคือมีคนบอกให้เขาออกจากร้านน้ำชา เมื่อร้านน้ำชามีผู้ช่วยคนใหม่ ลูกค้าประจำจะล้อเล่นว่า “เหล่าชี มีคนล้างถ้วยแล้ว ร้านน้ำชาไม่ต้องการแกแล้ว” เขาจะตอบอย่างโกรธเคืองทันทีว่า “คุณโง่หรือเปล่า ตีตายผมก็ไม่ไปจากที่นี่”

บางครั้ง อมยิ้มสักอัน หรือโค้กเย็นสักขวดอาจทำให้เหล่าชีละความระแวดระวัง มีหญิงสาวช่วยเขาล้างถ้วย เขาเชื่อมั่นว่าหญิงคนนี้จะไม่แย่งงานเขา เขาจึงแสดงของสะสมของเขาให้ดู ซึ่งมันเป็นใบประกาศเกียรติคุณที่ติดไว้บนผนังร้านน้ำชา หลี่เฉียงเขียนว่า “ขอแสดงความยินดีกับเหล่าชีที่ได้รับรางวัลฉายากุ๊กน้อยผู้สามารถ แห่งปี 2563 หวังว่าเหล่าชีจะมีความสุขทุกวัน อย่ากลัวความมืด” ความสุขอันไร้เดียงสาของเหล่าชี เป็นที่ประทับใจผู้คนมากมายบนโซเชียล

นักศึกษาที่ทำวิจัยด้านสังคมวิทยาในร้านน้ำชาเคยถามหวัง เย่าผิง อายุ 59 ปี ลูกค้าประจำร้านน้ำชาว่า “ร้านน้ำชามีคุณค่าเชิงพื้นที่แค่ไหน” เขามึนงง กล่าวหัวเราะเยาะตัวเองว่า “นักเรียนมัธยมปลายในช่วงทศวรรษ 1980 จะเข้าใจอะไรกับเรื่องคุณค่าเชิงพื้นที่” แต่เขากล่าวต่อว่า คุณค่านั้น “จับต้องไม่ได้ มันเป็นอารมณ์ เป็นที่พึ่งพา เป็นที่ฝากฝัง”

สตอรี่ร้านน้ำชาเก่า