เทศกาลสุริยะของสตรีชาวจ้วง
เทศกาลสุริยะของสตรีชาวจ้วง มีต้นกําเนิดมาจากวิถีชีวิตของชนชาติจ้วงซึ่งมีผู้หญิงเป็นผู้นำครอบครัว หรือ มาตาธิปไตย ในอดีตบรรพบุรุษของชาวจ้วงมีความเคารพและศรัทธาในดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว ชาวจ้วงเชื่อกันว่าพระอาทิตย์เป็นผู้นําแสงสว่างและความอบอุ่นมาสู่ผู้คน และยังบันดาลให้ทุกสรรพชีวิตเจริญเติบโต ดังนั้น ดวงอาทิตย์จึงเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและความหวังของชาวจ้วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีชาวจ้วง ซึ่งพวกเธอมีบทบาทในการเพาะปลูกทำกินและดูแลครอบครัวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยเหตุนี้ สตรีชาวจ้วงจึงยิ่งซาบซึ้งในพระคุณที่ดวงอาทิตย์ประทานให้ และค่อย ๆ เกิดเป็นประเพณีวันสุริยะของสตรีในเวลาต่อมา
ณ อำเภอซีโฉว แคว้นปกครองตนเองชนชาติจ้วงและม้ง-เหวินชาน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์พาดผ่าน ที่นี่เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชนชาติจ้วงที่สวยงามและลึกลับแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “ทังกู่” คำว่า "ทังกู่" เป็นภาษาจ้วง หมายถึง "สถานที่ค้นพบดวงอาทิตย์" ทุกปีในวันขึ้น 1ค่ำ เดือน 2 ตามปฏิทินจันทรคติ จะมีการจัดเทศกาลสุริยะสำหรับสตรีขึ้นอย่างยิ่งใหญ่
และในปีนี้เทศกาลสุริยะตรงกับวันที่ 10 มีนาคม ดังนั้น หมู่บ้านทังกู่จึงได้จัดงานเฉลิมฉลองประเพณีพื้นบ้านขึ้น โดยหญิงสาวที่อายุครบ 16 ปีจะบรรจงแต่งชุดประจำชนชาติจ้วงที่สวยงามเพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลสุริยะ ส่วนบรรดาผู้ชายจะต้องอยู่กับบ้านและทำงานบ้านแทนสาว ๆ
เช้าเวลา 10.00 โมงตรง งานเทศกาลสุริยะก็จะเริ่มขึ้น เหล่าสตรีในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันและมุ่งหน้าไปยังต้นสุริยเทพประจำหมู่บ้าน เพื่อเตรียมต้อนรับเทพแห่งดวงอาทิตย์
บริเวณใต้ต้นสุริยะเทพ “แม่หมอ” หรือสตรีผู้ซึ่งได้รับการสืบทอดพิธีบูชายัญพระอาทิตย์จะเป็นผู้ทำพิธีบูชายัญที่แท่นบูชาใต้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อต้อนรับพระอาทิตย์ขึ้นสู่ภูเขา และอธิษฐานขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และขอให้ผู้คนในหมู่บ้านประสบแต่ความสุขความเจริญรุ่งเรือง
จบจากพิธีต้อนรับพระสุริยะเทพแล้ว ผู้หญิงทุกคนก็จะเดินตามแม่หมอขึ้นไปบนภูเขาสุริยะ เพื่อทำพิธีส่งพระสุริยะเทพกลับคืนสู่สรวงสวรรค์ต่อไป
เทศกาลสุริยะของสตรีชาวจ้วง นอกจากเป็นเทศกาลเฉลิมฉลองแล้ว ยังมีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง และยังเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นของชาวจ้วงในประเทศจีนอีกด้วย เทศกาลนี้เป็นการสรรเสริญในความอุตสาหะ ความมีสติปัญญา และความเมตตาของสตรีชาวจ้วง เทศกาลสุริยะยังแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นและความเคารพยำเกรงที่มีต่อธรรมชาติของชาวจ้วงอีกด้วย
ปัจจุบัน ด้วยยุคสมัยและสังคมที่มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป เทศกาลสุริยะของสตรีชาวจ้วงก็ได้ปรับให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยได้เพิ่มองค์ประกอบใหม่ ๆ ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมโบราณไว้ด้วย ในวันเทศกาลหมู่บ้านทังกู่จะจัดกิจกรรมเกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีพระอาทิตย์เป็นองค์ประกอบ เช่น การแข่งขันการทำการเกษตร ร่วมทานอาหารในงานเลี้ยงสุริยะ และงานราตรีรอบกองไฟชนชาติจ้วง อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณีการบูชาสุริยะที่มีเสน่ห์และสวยงามของชนชาติจ้วง